วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สาระสำคัญ
                   
านตะไบ เป็นงานขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญมากทางด้านช่างอุตสาหกรรม ช่างฝีมือทุกคนต้องศึกษา ชนิด คุณสมบัติของตะไบ และฝึกให้มีทักษะความเชี่ยวชาญในการใช้ตะไบ จึงสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง ละเอียด ประณีต มีประสิทธิภาพ
                   ตะไบเป็นเครื่องมือตัดเฉือนที่มีประโยชน์มาก ซึ่งใช้ในการปรับลดขนาดชิ้นงาน  ให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ปรับตกแต่งผิวงานให้เรียบ  เพื่องานประกอบชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน หรือใช้ตกแต่งและซ่อมแซมชิ้นงาน ชิ้นส่วน  เครื่องจักรกลในงานซ่อมบำรุง  เป็นต้น

เรื่องที่จะศึกษา
                
1. ความหมายของตะไบ
                2. ส่วนประกอบของตะไบ
                3. ประเภทของตะไบและลักษณะการใช้งาน
                4. การใส่และถอดด้ามตะไบ
                5. ระดับปากกาที่เหมาะสมสำหรับการตะไบ
                6. การจัดวางตะไบบนโต๊ะปฏิบัติงาน
                7. เทคนิควิธีการตะไบ
                8. การตะไบผิวราบ
                9. การทำความสะอาดตะไบ
                10.การใช้และการบำรุงรักษาตะไบ

จุดประสงค์การเรียนรู้                 
                1. อธิบายความหมายของการตะไบได้อย่างถูกต้อง    
                2. อธิบายส่วนประกอบของตะไบได้อย่างถูกต้อง
                3. เลือกใช้ตะไบได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับงาน
                4. ปฏิบัติการถอดและใส่ด้ามตะไบได้อย่างถูกต้อง
                5. คำนวณระดับความสูงของปากกาที่เหมาะสมสำหรับการตะไบได้อย่างถูกต้อง
                6. จัดวางเครื่องมือตะไบบนโต๊ะปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องเป็นระเบียบ
                7. อธิบายเทคนิคและวิธีการตะไบได้อย่างถูกต้อง
                8. ปฏิบัติงานตะไบได้ตามใบงานและมาตรฐานกำหนดได้อย่างถูกต้อง
                9. ปฏิบัติการใช้และการบำรุงรักษาตะไบได้อย่างถูกต้อง

1. ความหมายของการตะไบ
                
การตะไบ  คือ  ขบวนการที่ทำให้ผิวของงานหลุดออกจากที่เดิม ในลักษณะของการโกน หรือ ถาก
คล้ายกับการตัดเฉือนของคมสกัด
                ตะไบที่ใช้งานทั่วไป จะมีฟันที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับลิ่มเรียงเป็นแถว แต่ละแท่งลิ่มจะมีปลายคมตัด เมื่อเราออกแรงกดตะไบจะทำให้เกิดผลสองประการ คือ
               1. เมื่อกดวัตถุจะแยกห่างออกจากกัน
               2. เมื่อออกแรงดันวัตถุจะหลุดออกจากกัน


ภาพที่ 5.1 แสดงลักษณะการตัดเฉือนของฟันตะไบ
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 98

2. ส่วนประกอบของตะไบ
                     
ตะไบเป็นเครื่องมือที่ทำจากเหล็กกล้าคาร์บอนสูงผ่านกระบวนการขึ้นรูปด้วยเครื่องจักรแล้วนำไปอบชุบผิวแข็ง ตะไบมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ด้าม กั่น โคน หน้า ขอบ ความยาว และปลาย


ภาพที่ 5.2  แสดงส่วนประกอบของตะไบ

                  1.  คมตัดของตะไบ คมตัดหรือฟันของตะไบ โดยทั่วไปจะมีมุมคายเป็นลบ ซึ่งจะมีผลทำให้คมตัดตะไบตัดเฉือนเนื้อวัสดุงานในลักษณะถากผิวออกทีละน้อย ตะไบมีคมตัดหลายลักษณะ เช่น
                  Ÿ = มุมคาย
                  β = มุมลิ่ม
                  α = มุมฟรี

ภาพที่ 5.3 แสดงมุมต่าง ๆ ของฟันตะไบ
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 99

                1)  คมตัดคู่ (Double-cut) เหมาะสำหรับใช้ตะไบปรับลดขนาดงาน วัสดุแข็ง เช่น เหล็กกล้า เหล็กหล่อ


ภาพที่ 5.4 แสดงลักษณะคมตัดคู่

                  2)  คมตัดเดี่ยว (Single-cut) เหมาะสำหรับใช้ตะไบปรับผิวในชั้นสุดท้าย เป็นการตะไบละเอียดงานเหล็ก
                       

ภาพที่ 5.5 แสดงลักษณะคมตัดเดี่ยว

                 3)  คมตัดโค้ง (Curved-cut) ลักษณะคมตัดโค้งเป็นรัศมี ทำให้สามารถคายเศษโลหะออกได้ทั้งสองข้างของคมตะไบ เหมาะสำหรับตะไบงานที่มีเนื้ออ่อน เช่น ตะกั่ว ดีบุก พลวง อะลูมิเนียม ทองแดง เป็นต้น
 


ภาพที่ 5.6 แสดงลักษณะคมตัดโค้ง

3.   ประเภทของตะไบและลักษณะการใช้
                    
ตะไบถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้ตะไบชิ้นงานในลักษณะต่างๆ ได้สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ตะไบนิยมแบ่งออกตามลักษณะพื้นที่หน้าตัดของตะไบนั้นๆ ดังนี้

 
ภาพที่ 5.7  แสดงชนิดของตะไบและลักษณะการใช้งาน

4.   การใส่ด้ามตะไบ
               1. เจาะด้ามตะไบเป็นสามส่วนด้วยดอกสว่าน 3 ขนาด
               2. สวมกั่นตะไบเข้าด้ามให้แน่นพอสมควร
               3. ใช้ค้อนตอกดังภาพ



ภาพที่ 5.8   แสดงการใส่ด้ามตะไบ

                    การถอดด้ามตะไบ ใช้มือจับตะไบให้แน่นแล้วค่อยๆ กระแทกกับปากกา โดยการดึงออกดังภาพ



ภาพที่ 5.9 แสดงการถอดด้ามตะไบ

5.   ระดับของปากกาที่เหมาะสมสำหรับการตะไบ
                     ระดับความสูงของปากกาจับงาน ควรให้ปากของปากกาจับงานอยู่ต่ำกว่าข้อศอกของผู้ปฏิบัติงานประมาณ 5-8 เซนติเมตร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในอิริยาบถที่สบายที่สุด ตะไบงานได้ง่าย ออกแรงน้อย ความเมื่อยล้าก็จะน้อย การทำงานมีประสิทธิภาพสูง



ภาพที่ 5.10  แสดงระดับปากกาที่เหมาะสม

6.   การจัดวางตะไบบนโต๊ะปฏิบัติงาน
                    
ในการปฏิบัติงานตะไบ ควรวางตะไบ แปรงปัดตะไบ และเครื่องมืออื่นๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานและความปลอดภัย

ภาพที่ 5.11 แสดงการจัดวางตะไบให้เป็นระเบียบ

7.   เทคนิคและวิธีการตะไบ
                   
การตะไบชิ้นงานอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลงานมีคุณภาพสูง มีขนาดถูกต้อง ประณีต สมบรูณ์ และใช้เวลาในการปฏิบัติงานน้อย เครื่องมืออุปกรณ์ไม่ชำรุดเสียหาย จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องมีฝีมือและมีทักษะในการตะไบสูง ซึ่งจะต้องศึกษาเทคนิคต่างๆ ดังนี้
                   7.1 เทคนิควิธีการจับยึดชิ้นงาน
                   จับยึดชิ้นงานให้ได้ศูนย์กลางของปากกา และยึดให้มั่นคง     โดยให้ส่วนของชิ้นงานที่จะถูกตะไบอยู่ใกล้ปากของปากกา เพื่อป้องกันการสะท้านของชิ้นงาน
                   7.2 เทคนิควิธีการจับตะไบ
                   มือขวาจับที่ด้ามไม้ให้ปลายด้ามไม้อยู่ในอุ้งของสันหัวแม่มือ และนิ้วหัวแม่มือชี้ขนานกับด้ามแล้วกำนิ้วทั้งสี่นิ้ว
                   มือซ้ายกดที่ปลายตะไบโดยอุ้งมือส่วนที่ค่อนมาทางข้อมือเป็นตัวกด ให้น้ำหนักที่กระทบบนตะไบมีจุดร่วมอยู่ที่งาน



ภาพที่ 5.12  แสดงวิธีการจับงานและวิธีการจับตะไบ

                     
7.3 เทคนิคการวางตำแหน่งเท้าขณะยืนทำงาน
                     เท้าขวาทำมุมประมาณ 75 องศา กับแนวกึ่งกลางตัวปากกา
                     เท้าซ้ายทำมุม 15-30 องศา กับแนวกึ่งกลางตัวปากกา และอยู่หน้าเท้าขวาระยะประมาณ 30-40 เซนติเมตร


ภาพที่ 5.13 แสดงตำแหน่งการวางเท้า
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 104

                      7.4 เทคนิคการทิ้งน้ำหนักตัวและการโยกตัว
                      เข่าของขาหลังตึงเล็กน้อย เข่าของขาหน้าหย่อนไปตามจังหวะโยกตัวไป-มา


ภาพที่ 5.13 แสดงเทคนิคการตะไบโดยการโยก
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 105

                  7.5 เทคนิควิธีการประคองตะไบ
                  1. ผลักไปข้างหน้าตามแนวยาวของตะไบให้สุด แต่อย่าให้ชนถึงด้ามตะไบหรือด้ามตะไบชน กระแทกงาน
                  2. มือขวาทำหน้าที่ผลักและกด มือซ้ายกดอย่างเดียว
                  3. เคลื่อนตะไบไปข้างหน้าพร้อมกับแรงกดลง
                  4. ดึงกลับจะต้องไม่กดตะไบลง
                  5. การผลักตะไบไปข้างหน้าจะต้องให้แรงกดกระทำที่ชิ้นงานอย่างสม่ำเสมอ


ภาพที่ 5.14 แสดงวิธีการตะไบ
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 106

   8.    การตะไบผิวราบ
                ชิ้นงานที่ต้องการปรับลดขนาดและตกแต่งผิวให้เรียบมีขนาดความกว้าง ความยาวและ      ความหนาแตกต่างกันลักษณะทั่วไปของการตะไบผิวราบสามารถแบ่งได้4ลักษณะคือ
                8.1 การตะไบตามขวาง
                การตะไบลักษณะนี้ ทิศทางของการตะไบจะทำมุมฉากกับขอบชิ้นงานด้านความยาวใช้ในการลดขนาดของชิ้นงาน ซึ่งสามารถตะไบลดขนาดลงได้รวดเร็วหกว่าการตะไบลักษณะอื่น เพราะพื้นที่ที่ถูกตะไบน้อยกว่าลักษณะอื่น นอกจากนี้ยังใช้ตะไบแก้ไขชิ้นงานที่โค้งนูนตามความยาว



ภาพที่ 5.15 แสดงลักษณะการตะไบตามขวาง
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 106

                8.2 การตะไบตามยาว
                การตะไบลักษณะนี้ ทิศทางของการตะไบจะทำมุมฉากกับชิ้นงานด้านความกว้างหรือตามแนวยาวของผิวงาน



ภาพที่ 5.16 แสดงลักษณะการตะไบตามยาว
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 106
                8.3 การตะไบเฉียงหรือตะไบทแยงมุม
                การตะไบลักษณะนี้ ทิศทางการตะไบจะทำมุม 45 องศา กับขอบชิ้นงานด้านยาว แล้วเปลี่ยนให้ทิศทางการตะไบจากเดิมทำมุม 90 องศา กับครั้งแรกทุกครั้งเหมาะสำหรับปรับผิวเรียบ รอยตะไบที่ไขว้กันจะแสดงให้เห็นผิวนูนได้เป็นอย่างดี ซึ่งสังเกตได้จากรอยที่เกิดจากการตะไบทแยงมุม ถ้ารอบตะไบยาวตั้งแต่ด้านหนึ่งไปสิ้นสุดอีกด้านหนึ่งทั้งสองด้าน แสดงว่าผิวของชิ้นงานที่ทำการตะไบมีผิวเรียบ



ภาพที่ 5.17 แสดงลักษณะการตะไบทแยงมุม
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 107

                8.4 การตะไบแบบขูด
                การตะไบลักษณะนี้ มักใช้กับการตะไบผิวละเอียด โดยใช้ตะไบคมตัดเดี่ยววิธีการจับตะไบจะต้องให้สมดุล และใช้มือทั้งสองข้างจับตัวตะไบใกล้ชิดกันแล้วกดดันไปข้างหน้าและดึงถอยหลัง ชักตะไบระยะสั้นๆ ใช้กับงานที่มีความกว้างไม่มาก และตะไบปรับเฉพาะส่วนที่โค้งนูนให้เรียบ



ภาพที่ 5.18 แสดงลักษณะการตะไบแบบถู

9.   การทำความสะอาด
                   เมื่อเราทำความสะอาดตะไบชิ้นงานระยะหนึ่ง จะมีเศษโลหะติดตะไบ ทำให้ผิวงานเป็นรอย ขีดข่วน ดังนั้นจึงต้องขจัดเศษโลหะนั้นออก วิธีทำความสะอาดตะไบ โดยปกติจะใช้แปรงปัดตะไบถูปัด
ไปตามร่องฟันตะไบ

ภาพที่ 5.19 แสดงการทำความสะอาดตะไบด้วยแปรง
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 109

10.   การใช้และการบำรุงรักษาตะไบ
               1. อย่าใช้ตะไบที่ไม่มีด้าม
               2. อย่าใช้ตะไบแทนค้อนหรือทำตกพื้นเพราะจะทำให้แตกหัก
               3. อย่าใช้น้ำมันหล่อลื่นทาตะไบ  เพราะจะทำให้คมของตะไบลื่น
               4. เลือกใช้ตะไบให้เหมาะสมกับงาน
               5. ควรแยกตะไบออกจากเครื่องมือชนิดอื่น และไม่ควรเก็บกองรวมกันต้องเก็บไว้ในที่เก็บ
               6. การตะไบ ผิวดิบของชิ้นงานที่ผ่านกระบวนการรีดร้อนมาผิวจะแข็ง     ดังนั้นจะต้องใช้สัน
               ตะไบทำการตะไบผิวดิบออกให้หมดก่อนจึงจะใช้หน้าตะไบปรับงานต่อไป โดยให้สันตะไบทำมุมเอียงประมาณ 30 องศา กับแนวระนาบ

ภาพที่ 5.20 แสดงตะไบที่ไม่มีด้ามไม่ควรนำมาใช้งาน
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 109

สรุปบทเรียน
                    การตะไบ คือ ขบวนการที่ทำให้ผิวของงานหลุดออกจากที่เดิม ในลักษณะของการโกนหรือการถาก คล้ายกับการตัดเฉือนของคมสกัด ตะไบเป็นเครื่องมือที่ทำจากเหล็กกล้าคาร์บอนสูงผ่านกระบวนการขึ้นรูปด้วยเครื่องจักรแล้วนำไปอบชุบผิวแข็ง ตะไบมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ด้าม กั่น โคน หน้า ขอบ ความยาว และปลาย   ตะไบถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้ตะไบชิ้นงานในลักษณะต่างๆ ได้สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ชนิดตะไบนิยมแบ่งออกตามลักษณะพื้นที่หน้าตัดของตะไบนั้นๆ  ส่วนระดับความสูงของปากกาจับงาน ควรให้ปากของปากกาจับงานอยู่ต่ำกว่าข้อศอกของผู้ปฏิบัติงานประมาณ 5-8 เซนติเมตร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในอิริยาบถที่สบายที่สุด ตะไบงานได้ง่าย ออกแรงน้อย ความเมื่อยล้าก็จะน้อย การทำงานมีประสิทธิภาพสูง ในการปฏิบัติงานตะไบ ควรวางตะไบ แปรงปัดตะไบ และเครื่องมืออื่นๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานและความปลอดภัย   การตะไบชิ้นงานอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลงานมีคุณภาพสูง มีขนาดถูกต้อง ประณีต สมบรูณ์ และใช้เวลาในการปฏิบัติงานน้อย เครื่องมืออุปกรณ์ไม่ชำรุดเสียหาย จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องมีทักษะในการตะไบสูง ซึ่งจะต้องศึกษาเทคนิคการตะไบต่างๆ